
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเหตุผลที่รัฐบาลต้องกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 2 รอบ รวม 1.5 ล้านล้านบาท ว่า เนื่องจากนโยบายการคลังต้องช่วยดูแลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนนโยบายการเงินจะช่วยดูแลภาคธุรกิจ ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมเงินภาครัฐในช่วงดังกล่าวสูงขึ้นทุกประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถือว่าไม่สูงที่สุด
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบการว่างงาน ผ่านการออกมาตรการ เราชนะ เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เป็นต้น และลดต้นทุนการบริการงานของธนาคารรัฐ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ทั้งมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ หรือการเติมสินเชื่อใหม่ ที่รัฐจะต้องเข้าไปชดเชยในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น ในสัดส่วนร้อยละ 30-40 รวมทั้งการออกมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงแนวนโยบายการคลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากมีต้นทุนภาระทางการเงินการคลังเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ว่า จำเป็นต้องสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แม้จะเติบโตช้า แต่ขอให้เติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งนโยบายการคลังก็จำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาท ทั้งเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐและเอกชนมีการปรับตัวรองรับแล้ว มาตรการภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตามเป้าหมายของรัฐบาลภายในปี 2030 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือ CO2 ต้องมีความชัดเจน และการสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคสาธารณสุขไทย ดังนั้นทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวจึงเป็นนโยบายสำคัญที่นโยบายการคลังต้องเข้าไปให้การสนับสนุน ซึ่งสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
![]() |
![]() |
![]() |